เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ สนับสนุนสินค้าไทยได้ EU Flowerสู่ตลาดยุโรปเมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2551
คณะผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากร รับฟังการบรรยายเรื่องการทำธุรกิจในเบลเยียม

Travel Advisory ของกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเกี่ยวกับประเทศไทย

เว๊บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมจะให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว เบลเยียมเกี่ยวกับระดับเสี่ยงของประเทศต่างๆ  (travel advisory) โดยแบ่งความเสี่ยงเป็น 6 ระดับ (ยิ่งตัวเลขมาก ความเสี่ยงยิ่งสูง)  โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับที่ 3 ซึ่งเป็นความเสี่ยงในระดับเดียวกันกับประเทศพม่าและฟิลิปปีนส์ และมีความเสี่ยงสูงกว่ากัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (ซึ่งอยู่ในระดับ 2) เวียดนามและสิงคโปร์ (ซึ่งอยู่ในระดับ 1) และแม้ว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเมื่อ 23 ธ.ค. 2550 เว๊บไชต์ยังให้ข้อมูลที่ไม่ทันสมัยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2551 กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมได้ปรับเปลี่ยนระดับความเสี่ยงของประเทศไทยให้ ดีขึ้น โดยลดความเสี่ยงเป็นระดับ 2 จากระดับ 3  พร้อมทั้งปรับข้อมูลใน travel advisory ให้ทันสมัยและมีความสมดุลมากขึ้น เช่น แม้ว่าจะยังเตือนให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ระบุด้วยว่า ไม่มีภัยคุกคามเฉพาะเจาะจงต่อนักท่องเที่ยว/คนต่างชาติ  นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงพัฒนาทางการเมืองในไทยว่าได้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภาแล้ว

การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลข้างต้นของกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเป็นผลจากที่ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2551   สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มอบหมายให้นางสาวพันทิพา เอี่ยมสุทธา อัครราชทูตที่ปรึกษา เข้าพบนาย Christian Tanghe ตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม เพื่อขอความร่วมมือทางการเบลเยียมทบทวนแก้ไข travel advisory  เพราะการจัดระดับความเสี่ยงดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงและอาจทำให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจที่ ผิดและวิตกที่จะเดินทางมาไทย  ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ประสานงานโดยตรงกับสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียม ประจำประเทศไทยเพื่อแจ้งความกังวลในเรื่องนี้อีกทางหนึ่งด้วย

การที่ทางการเบลเยียมปรับระดับความเสี่ยงของประเทศไทยให้ดีขึ้น จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวจากเบลเยียมได้มากขึ้น เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวเบลเยียมและชาวต่างชาติที่อาศัยในเบลเยียม ที่เดินทางไปไทยซึ่งมีจำนวนประมาณกว่าปีละ 60,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ไทย