เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 51 ทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ได้เชิญผู้แทนจากบริษัท GDF-Suez ซึ่งประกอบด้วย Mr. Rorive รองประธานอาวุโส และ Mr. Josz ผู้ช่วย CEO มาบรรยายเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ โดยเบลเยียมเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการสร้างโรงงานนิวเคลียร์เมื่อ ค.ศ. 1962 และบริษัทดังกล่าวเป็นการรวมตัวระหว่างบริษัทพลังงานของเบลเยียมและฝรั่งเศส และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทยด้วย
Mr. Rorive ได้บรรยายถึงเรื่องนโยบายของบริษัทและแนวทางการดำเนินงาน โดยเน้นว่านโยบายสำคัญที่สุดคือการรักษาความปลอดภัยจากโรงงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีกระบวนการที่รอบคอบตั้งแต่การหาพื้นที่สร้างที่เหมาะสมทางธรณีวิทยาจน ถึงการรื้อถอนเมื่อโรงงานหมดอายุการใช้งานแล้ว ในกรณีของโรงงานนิวเคลียร์แห่งแรกสิ้นสุดการใช้งานตั้งแต่ ค.ศ. 1987 แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการรื้อถอนจนกระทั่งปัจจุบัน ปัจจุบันกฎหมายเบลเยียมกำหนดให้โรงงานนิวเคลียร์มีอายุใช้งาน 40 ปี แต่ทางบริษัทฯ กำลังพยายามผลักดันให้ขยายระยะเวลาเป็น 50 ปี เนื่องจากศักยภาพของโรงงานยังมีสูง และกว่าจะสร้างสำเร็จต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ปี
สำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีโรงงานนิวเคลียร์มาก่อน และสนใจที่จะสร้างโรงงานจะต้องสร้างกรอบกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสนอต่อทบวงการ พลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างน้อย 4 ปี ถึงจะเริ่มให้บริษัทเอกชนเข้าไปเริ่มดำเนินการได้ หลังจากนั้นจะต้องเตรียมพร้อมด้านบุคลากร เนื่องจากต้องใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างจนถึง การปฏิบัติงานในโรงงาน
นาย Josz เห็นว่าหากไทยมีความสนใจสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ก็ควรมีนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนในระยะยาว และประชาชนก็ต้องให้ความเห็นชอบด้วย ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างมากที่สุดคือบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด
ปัจจุบัน บริษัท GDF-Suez มีตัวสร้างพลังงานไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ (reactor) 7 แห่งในเบลเยียม ศักยภาพการผลิต 3,800 MW กำลังสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ในฟินแลนด์ และกำลังจะสร้างอีก 2 โรงงานในโรมาเนียและบัลแกเรีย และอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากพลังงานนิวเคลียร์แล้ว บริษัทยังมีกิจการพลังงานประเภทอื่นๆ อาทิ พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ และวางแผนที่จะพัฒนาโรงงานพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ในเร็วๆ นี้ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในยุโรปในด้านพลังงานนิวเคลียร์ยังมีบริษัทอื่นๆ อีก อาทิ EDF ของฝรั่งเศส, E-ON และ RWE ของเยอรมนี เป็นต้น