เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ศ. ดร. ปริญญา นุตาลัย และ รศ. ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ พร้อมคณะได้เดินทางมาเยี่ยมและร่วมประชุมกับทีมประเทศไทยประจำกรุงบรัสเซลส์ เป็นแห่งแรก ก่อนจะเดินทางต่อไปกรุงเบอร์ลิน เพื่อรับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการทำโครงการของสถานทูต ที่เป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลด้านการต่างประเทศและเป็นการทำโครงการ ร่วมกันของหลายหน่วยงาน หรือที่เรียกกันว่า แบบบูรณาการ (มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า FMIP)
ทีมประเทศไทยประจำกรุงบรัสเซลส์ได้เสนอข้อคิดเห็น สรุปว่า
1. การทำโครงการในต่างประเทศแตกต่างจากการทำโครงการทั่วไปภายในประเทศ จึงควรรับฟังทีมงานในพื้นที่เป็นสำคัญ
2. เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ดีที่สุด โครงการต่าง ๆ ควรได้รับการอนุมัติและได้รับเงินมาดำเนินโครงการอย่างรวดเร็วและทันการ และให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น
3. ในกรณีจำเป็น น่าจะพิจารณาอะลุ้มอล่วยให้สามารถทำโครงการที่ผูกพันนานกว่า 1 ปีงบประมาณของทางราชการไทยได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
4. ราชการเองมีความจำเป็นต้องพัฒนาการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจ กับทั้งฝ่ายการเมือง สภาผู้แทน และประชาชนทั่วไป อยู่สม่ำเสมอ ตลอดเวลา
คณะอาจารย์ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมในครั้งนี้ได้รับที่จะนำข้อมูล ข้อคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปพิจารณาประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้การใช้งบประมาณ FMIP นี้ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย ภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ผู้ส่งออก คนไทยที่อาศัยหรือประกอบธุรกิจในต่างประเทศ เกิดการต่อยอด การสร้างมูลค่า การเพิ่มโอกาสและศักยภาพของคนไทย เช่นในการส่งออกสินค้าเจาะเข้าตลาดอียู