งาน European Seafood Exposition 2010
โรงเรียนนายร้อยทหารบกเบลเยียมจัดงานช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนในหนองคาย

ขอให้มีความสามัคคีปรองดอง เพราะเราทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน แต่อาจคิดต่างกันได้

ศูนย์การเรียนไทยในเบลเยียม (กศน.)  นำโดยคุณสมบัติ ศิริสุข ได้จัดกิจกรรมการพบปะพูดคุยเรื่อง สถานการณ์ประเทศไทย ขึ้น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2553 ณ ร้านอาหาร Sombat Thai Cuisine เมืองอันตเวอร์ป  โดยได้เปิดให้คนไทยและครอบครัว เพื่อนประเทศไทย (Friends of Thailand) และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมพบปะพูดคุยและแสดงความคิดเห็น เอกอัครราชทูตฯ  ได้กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตามด้วยตอบคำถาม มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

เมื่อ 3 พฤษภาคม 2553 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางการปรองดอง 5 ประการ ซึ่งจนถึงเมื่อวันที่   9 พฤษภาคม 2553  หลายฝ่ายรวมทั้ง กลุ่มนปช มีท่าทีตอบรับ แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกันต่อไป  น่าจะกล่าวได้ว่าสถานการณ์ในไทยได้เลยเถิดเกินสภาพปกติ เพราะฝ่ายต่างๆ ที่ชุมนุมต่างมุ่งมั่นในความคิดของตน ต้องการชนะฝ่ายที่มีความคิดไม่ตรงกัน  คนไทยที่อยู่ฝ่ายต่างๆ น่าจะหยุดคิด ตรึกตรอง ลดละ จากทิฐิความเชื่อ มองคนที่คิดเห็นต่างกับตนว่าล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน แต่อาจคิดต่างกันได้

สถานการณ์ในไทยเป็นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ในหลายประเทศได้เคยเกิดสงครามกลางเมืองที่ผู้คน ล้มตายจำนวนมาก  เหตุการณ์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากน่าจะ เพียงพอแล้วที่จะให้ ทุกฝ่ายหยุด ลด ละ เข้าสู่แนวทางปรองดองในชาติที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
ในแง่ภาพลักษณ์ในต่างประเทศ ยังมีด้านดีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่คนไทยสามารถชี้ให้เพื่อนชาวเบลเยียมได้เห็น เข้าใจ ดังนี้

1.  รัฐบาลได้พัฒนายกระดับมาตรฐานการดูแลการชุมนุมของผู้ปฏิบัติ จะได้เห็นได้จากเครื่องไม้ เครื่องมือชุดปฏิบัติการ แนวปฏิบัติจากน้อยไปมากตามหลักสากล ในขณะที่บางประเทศก็ยังคงใช้ทหารพร้อมอาวุธสงครามปฏิบัติการเด็ดขาดทันที  รัฐบาลยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตย นิติรัฐ และหลีกเลี่ยงความรุนแรง  การที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายยืนยันว่าจะไม่ให้ทหารใช้อาวุธยิงผู้ประท้วงที่ ไม่มีอาวุธทำให้ภาพลักษณ์ไทยในสายตาอียูดูดีขึ้น

2. การชุมนุมที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปราศจากความรุนแรง ถึงแม้จะมีจำนวนคนเข้าร่วมจำนวนมากขึ้นและช่วงเวลา ชุมนุมยาวนาน แต่ชาวต่างประเทศจะได้รับทราบข่าวก็ต่อเมื่อการชุมนุมมีความรุนแรง เพราะสื่อให้ความสำคัญกับข่าวที่มี ความรุนแรงเท่านั้น

3.  การชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใดไม่เคยมีเป้าหมายชาวต่างชาติ ไม่เคยมีการปล้นสะดมหรือทุบกระจกร้านค้าเพื่อลักขโมย ขโมยสินค้าเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแม้ในประเทศที่เจริญแล้ว  และได้เกิดวัฒนธรรมในทางที่ดีโดยสาธารณชนไทยได้แสดงความเห็นชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนผู้ใช้ความรุนแรงหรือกระทำการเกินเหตุอันควร เช่นการปิดท่าอากาศยาน เหตุการณ์จลาจลสงกรานต์เลือด ปี 2552  หรือการเข้าไปในเขตโรงพยาบาล  ย่อมสร้างกระแสตีกลับให้สาธารณชนไม่เอาด้วยกับวิธีการดังกล่าว

4.  การที่นานาประเทศมีคำเตือนเรื่องการเดินทางไปไทยเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเขา  หากการเตือนเหมารวมเกินเหตุ เช่นว่า ไม่แนะนำให้ไปไทยทั่วประเทศ  ขอให้มิตรของประเทศไทยช่วยกันติติง ชี้แจง หรือร้องเรียนไปยังกระทรวงการต่างประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นการซ้ำเติมประเทศ เนื่องจากแม้ในกรุงเทพฯ ก็ยังปลอดภัยพอ หากผู้เดินทางจะหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการชุมนุม?

กิจกรรมดังกล่าวมีผู้สนใจทั้งคนไทย ครอบครัว และคนเบลเยียมเข้าร่วมกว่า 50 คน นอกจากเอกอัครราชทูตฯ กับภริยาแล้ว  กงสุลอัครพงศ์ฯ  Mr. Timmermans กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเมืองอันตเวอร์ป และครอบครัว Mr. Karl Lauwers และ Mr. Gerard Caestecker ประธานและรองประธานสมาคมไทยเบล ได้ไปเข้าร่วมด้วย

ในโอกาสดังกล่าว เจ้าหน้าที่กงสุลได้ฝากขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้คนไทยที่อาศัยใน เบลเยียมใช้สิทธิทางการเมืองโดยการแจ้งความจำนงขอใช้สิทธิเลือกตั้งในต่าง ประเทศ (สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากเวบไซต์นี้) ไว้แต่เนิ่น ๆ และ เมื่อมีการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศ  ก็ขอเชิญชวนให้ไปใช้สิทธิโดยพร้อมเพรียงกัน

ไทย