เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เยือนเบลเยียมและสหภาพยุโรปตามคำเชิญของนาย Elio Di Rupo นายกรัฐมนตรีเบลเยียมและนาย Jose Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยการเยือนเบลเยียมและสหภาพยุโรปมีเป้าหมายยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ในวันที่ 5 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าเจ้าชายฟีลิป มกุฎราชกุมารเบลเยียม และพบหารือกับผู้นำสถาบันหลักของเบลเยียม ได้แก่ นาย André Flahaut ประธานสภาผู้แทนราษฎรเบลเยียม และนาย Elio di Rupo นายกรัฐมนตรีเบลเยียม และในช่วงเย็น นาง Sabine de Bethune ประธานวุฒิสภาเบลเยียมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำนักธุรกิจชั้นนำของไทยกว่า 30 คน ร่วมเดินทางมาด้วยเพื่อพบปะนักธุรกิจชั้นนำของเบลเยียมและยุโรป 115 คน จาก 92 บริษัท / องค์กร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงานเลี้ยงอาหารกลางวันแบบ Business Networking Reception and Luncheon ในวันที่ 5 มีนาคม 2556 จัดโดยสำนักงาน BOI ส่วนวันที่ 6 มีนาคม 2556 คณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโอกาสและสิ่งท้าทายของการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป การทำธุรกิจในเบลเยียม และการสร้างเครือข่ายและล้อบบี้ในยุโรป และยังได้ไปเยี่ยมชมบริษัทและศูนย์วิจัยชั้นนำของเบลเยียมอีกด้วย
การเยือนเบลเยียมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานให้กับการเสด็จเยือนไทยของเจ้าชายฟีลิป มกุฎราชกุมารเบลเยียม พร้อมคณะนักธุรกิจกว่า 200 คน ระหว่างวันที่ 16-22 มีนาคม ศกนี้ ซึ่งการเยือนเบลเยียมของนายกรัฐมนตรีและการเสด็จเยือนไทยของมกุฎราชกุมารเบลเยียมมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้ทวีความแน่นแฟ้นใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ในวันพุธที่ 6 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้นำสามสถาบันของสหภาพยุโรปประกอบด้วย นาย Martin Schulz ประธานรัฐสภายุโรป นาย José Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Herman Van Rompuy ประธานคณะมนตรียุโรป โดยประเด็นสำคัญของการพบปะหารือกับคือการประกาศเริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป รวมทั้งการมีข้อสรุปในการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งหมดนี้คือพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในทุกด้าน
นาย Barroso ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรี และในโอกาสนี้ได้มอบประกาศนียบัตรรับรองการขึ้นทะเบียนให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในอียู (Geographical Indicator: GI) แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นสินค้าข้าวรายแรกในอาเซียนที่ได้รับจดจีไอในอียูและจะช่วยประชาสัมพันธ์การขยายตลาดข้าวของไทยใน EU นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ผลักดันสินค้าเกษตรอีก 2 รายการได้แก่ การแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุงให้ได้รับการจดทะเบียน GI ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ EU เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทยโดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2555 กว่า 32 พันล้านยูโร และยังมีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 โดยในปี 2555 มีการลงทุนสุทธิ 740 ล้านยูโร