ธรรมสัญจรเพื่อชาวไทยในเบลเยียม: การแสดงธรรมโดยหลวงพ่อชาญชัย อธิปัญโญ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556
คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 60 รับฟังบรรยายสรุปที่สถานเอกอัครราชทูต

การเสด็จฯ เยือนไทยของเจ้าชายฟีลิปฯ มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2556

 

เจ้าชายฟีลิปฯ เสด็จฯ เยือนไทย ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2556 (economic mission) พร้อมด้วยนักธุรกิจชาวเบลเยียมประมาณ 170 คน  จาก 105 บริษัท  และผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลกลางและรัฐบาลภูมิภาคของเบลเยียม ได้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีของภูมิภาคฟลานเดอร์ส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ       วิสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การค้าต่างประเทศ และนวัตกรรมแห่งภูมิภาควัลลูน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การจ้างงาน การวิจัยวิทยาศาสตร์และการค้าต่างประเทศของภูมิภาคบรัสเซลส์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระมหากรุณารับเสด็จฯ  เจ้าชายฟีลิปฯ และเจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายาในฐานะพระราช-อาคันตุกะส่วนพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าชายฟีลิปฯ และพระชายา เข้าเฝ้าฯ     ในวันที่ 22 มีนาคม 2556 ด้วย

วัตถุประสงค์หลักของการเสด็จฯ เยือนไทยครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน [1]และสร้างโอกาสให้แก่นักธุรกิจของเบลยียมได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้แทนระดับสูงด้านการวางแผนนโยบายและนักธุรกิจของไทย รวมทั้งหารือถึงลู่ทางในการทำการค้าและการลงทุนร่วมกันในสาขาที่ไทยให้ความสำคัญลำดับต้นในการพัฒนาประเทศและที่เบลเยียมมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน สุขภาพและเวชภัณฑ์ เกษตรอาหาร โดยเจ้าชายฟีลิปฯ เคยนำ economic mission เยือนไทยครั้งแรกเมื่อปี 2544

พระราชกรณียกิจของเจ้าชายฟีลิปฯ และเจ้าหญิงมาทิลด์ สรุปมีดังนี้

1. เจ้าชายฟีลิปฯ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อหารือข้อราชการและนายกรัฐมนตรีได้ถวายงานเลี้ยงสโมสรสันนิบาตและถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่เจ้าชายฟีลิปฯ พระชายา และคณะ ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 18 มีนาคม 2556

2.  เจ้าชายฟีลิปฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ เพื่อหารือถึงลู่ทางความร่วมมือสองฝ่าย คือ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีวกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม

3. เจ้าชายฟีลิปฯ ทรงเข้าร่วมงานสัมมนาที่จัดขึ้นเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ 4 สาขาที่กล่าวข้างต้น โดยการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจเบลเยียมเกี่ยวกับทิศทางและแผนการพัฒนาประเทศในด้านดังกล่าวและโอกาสสำหรับประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในสาขาเหล่านั้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

4. เจ้าชายฟีลิปฯ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการบูรณะซ่อมแซมสะพานไทย-เบลเยียม ระยะที่ 1  เสด็จฯ เยือนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีบริษัทเบลเยียมลงทุนในกิจการขนาดใหญ่คือบริษัท Glow, Katoen Natie,  Solvay  และ Vinythai  รวมทั้งเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดเพชรบุรีซึ่งนักวิชาการจากมหาวิยาลัย Ghent ของเบลเยียมให้ความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยไรทะเล (Artemia)

ส่วนเจ้าหญิงมาทิลด์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรม และบทบาทของสตรีในสังคม เช่น การหารือกับผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ นักธุรกิจสตรีชั้นนำของไทย การเสด็จฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานด้านสาธารณสุขชุมชนที่เป็นแบบอย่างในตำบลบ้านซ่อง จังหวัดฉะเชิงเทรา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านเกร็ดตระการ และโครงการฟื้นฟูปะการัง จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ในช่วงการเยือนนี้ มีการลงนามความตกลงที่สำคัญสองฉบับคือ

  • แผนปฏิบัติการไทยและเบลเยียม (ค.ศ. 2013 – 2020) เป็นแผนกำหนดทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ไทยและเบลเยียมอย่างรอบด้านลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสอง
  • บันทึกความเข้าใจระหว่างการบินไทยและบรัสเซลส์แอร์ไลน์เพื่อขยายความร่วมมือในเที่ยวบินร่วม (Codeshare) จากกรุงเทพฯ สู่บรัสเซลส์ และขยายเครือข่ายเส้นไปภูมิภาคยุโรปและ  แอฟริกา ลงนามโดย ดร. สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายเบอร์นาร์ด กุสแตง ประธานกรรมการบริหารของบรัสเซลส์แอร์ไลน์

เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ติดตามเจ้าชายฟีลิปฯ เยือนไทยด้วยเพื่อใช้โอกาสนี้เสริมสร้างเครือข่ายกับผู้แทนระดับสูงของฝ่ายเบลเยียม ตลอดจนนักธุรกิจเบลเยียมที่สนใจร่วมการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจไทย เพื่อประโยชน์ในการขยายผลความสัมพันธ์ไทยและเบลเยียมอย่างรอบด้าน

การเสด็จฯ เยือนไทยของเจ้าชายฟีลิปครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากการเยือนเบลเยียมของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2556  ดังนั้น การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับทั้งสองดังกล่าว จึงเอื้อประโยชน์ต่อกันและช่วยขยายผลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกันและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจระดับประชาชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศที่มีรากฐานมากกว่า 140 ปี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์อีกด้วย

         
21 20 19 18 17 12 13 14 15 16 11 10 9 8 7 2 3 4 5 6 1  เจ้าชายฟิลิปเสด็จเยือนประเทศไทยพร้อมด้วยคณะนักธุรกิจ เจ้าชายฟิลิปและพระชายาเสด็จเยือนประเทศไทย เจ้าชายฟิลิปพบนายกฯ
prince1 prince2 prince3 prince4 prince5

[1] เบลเยียมเป็นคู่ค้าอันดับที่ 29 ของไทย (อันดับที่ 6 ในกลุ่มอียู) ในปี 2554 มีมูลค่าการค้ากับไทย 2,182 ล้านยูโร ไทยได้เปรียบดุล 534 ล้านยูโร ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 มูลค่าการค้ารวม 1,845 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 8.52 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า

การลงทุนในปี 2555 จากเบลเยียมเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน ในปี 2554 BOI ได้อนุมัติโครงการลงทุนจากเบลเยียม 2 โครงการ มูลค่า 22 ล้านบาท และในปี 2555 BOI อนุมัติโครงการลงทุนจากเบลเยียม 6 โครงการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 364 ล้านบาท ได้แก่อุตสาหกรรมเบา วอฟแวร์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ไทย