เมื่อ 29 พ.ย. 2556 ณ อาคารที่ทำการ คณะกรรมาธิการยุโรป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าร่วมการประชุม. “เกษตรกรรมในครัวเรือน : แนวทางสู่การเกษตรที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุโรปและในโลก” (Family Farming: A Dialogue towards more sustainable and resilient farming in Europe and the World) ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ คณะกรรมาธิการยุโรป ด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ราชอาณาจักรเบลเยียม และราชรัฐอันเดอร์รา ระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2556 ในการนี้ มีพระราชดำรัสในช่วงการประชุมเต็มคณะในหัวข้อ “ทิศทางของเอเชียต่อเกษตรกรรมในครัวเรือน” ร่วมกับผู้บรรยายอื่นๆ ได้แก่ นาย Dacian Ciolos กรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท นาย Jose Grazian da Silva ผอ.ใหญ่องค์การ Food and Agriculture Organization (FAO) นาย Carlo Petrini ประธานกลุ่ม International Slow Food Movement และนาย Miguel Velga-Pestana รองประธาน บริษัท Unilever ประเด็นสำคัญของพระราชดำรัสสรุปได้ ดังนั้น
1. ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะกล่าวถึง Family Farming (FF) ในประเทศอื่นในเอเชียเพราะว่าไม่ชำนาญจึงขอกล่าวแต่เรื่องของประเทศไทยซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเอเชีย คิดว่าน่าจะคล้ายคลึงกัน ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ในด้านการส่งเสริมการเกษตรในหลายประเทศเอเชียและ แอฟริกา ก็ใช้หลักความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในประเทศไทยไปถ่ายทอด
2. เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ข้าพเจ้าขอให้คำนิยามของคำว่า FF ว่า เป็นงานเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย โดย (ก) สมาชิกครอบครัวเป็นเจ้าของฟาร์ม และลงมือทำกิจการด้วยตนเอง (ข) มักจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต คือ ที่ดินมักจะสืบทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก (ค) ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน จึงมีสัตว์และพืชผลหลายอย่างขายส่วนที่เหลือ เพื่อสร้างรายได้สำหรับใช้จ่ายและเก็บไว้เป็นทรัพย์สิน ดังนั้นจึงเน้นวิธีการที่ปลอดภัย มีการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน
3. ความสำคัญของ FF คือ 43% ของประชากรโลกอยู่ในภาคการเกษตร มากกว่า 53% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีวิธีการผลิตในรูปแบบของเกษตรกรรายย่อย ส่วนหนึ่งก็ยังใช้วิธีการดั้งเดิมใช้แรงงานคน และสัตว์แรงงาน บางคนใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (farm mechanization) จ้างแรงงานภายนอกประจำหรือเป็นฤดูกาล ผลิตพืช cashcrop มากขึ้น และเพิ่มกิจกรรมนอกภาคเกษตรเนื่องจากในชีวิตยุคปัจจุบันต้องการสิ่งของที่ ต้องใช้เงินซื้อหามากกว่าแต่ก่อน
4. ประเด็นท้าทายของเกษตรกรรายย่อยมีได้แก่ (ก) ไม่สามารถหาที่ดินทำกินได้พอ เกษตรกรรายหนึ่งๆ มักมีลูกมาก แบ่งที่กันจนไม่เหลือ เอาที่ไปขายเสียหมด จำนองและหลุดจำนอง บางรายไปหักร้างถางพง ตัดไม้ทำลายป่าซึ่งก็ไม่ดี (ข) ไม่มีเงินลงทุน และมีหนี้สิน เช่น การปรับที่ต้องใช้แรงงานมาก ต้องจ้างแรงงาน ต้องไปเช่าอุปกรณ์การเกษตร ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีเงินค่าสูบน้ำ (ค) ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรสมัยใหม่ สภาพภูมิศาสตร์เปลี่ยนไปทำให้ปฏิบัติแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว (ง) มีความเสี่ยงต่างๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ดินถล่ม แมลง และศัตรูพืชต่างๆ มาทำลายพืชผล โรคระบาดของพืชและสัตว์ เมื่อพืชและสัตว์เสียไปแล้วยากที่จะฟื้นฟู (จ) แรงงานในครัวเรือนน้อย และเริ่มอายุมาก คนรุ่นใหม่ไปทำงานอย่างอื่น หรือมีความรู้เรื่องการเกษตรน้อย เจ้าของนาใช้ลูกจ้าง ทำให้งานไม่ประณีต ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ได้กำไรน้อยลงและ (ฉ) รายได้เสริมยังไม่พอ เช่น การแปรรูปผลิตผลการเกษตร และหาตลาดยากเพราะบางครั้งไม่สามารถรักษามาตรฐานได้
5. การแก้ไขปัญหา (ก) การกำหนดให้ ค.ศ. 2014 เป็นปีนานาชาติของการผลักดัน FF ช่วยพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน เพราะจะแก้ปัญหาความยากจน และทำให้มีอาหารคุณภาพดี สำหรับบริโภคเอง (ข) ใช้ที่ทำกินอย่างประหยัดเลือกพืชที่เหมาะสม ปลูกป่า หาพืชที่สามารถทนความร่มได้ ปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นสมุนไพรที่ราคาดี การปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ตามแนวพระราชดำริ (เริ่มที่ห้วยฮ่องไคร้ 2525) ได้แก่ ป่าไม้ผล ป่าไม้ใช้สอย และป่าไม้ที่ใช้ทำฟืน ป่าเหล่านี้จะช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นประโยชน์อย่างที่สี่ (ค) รวม กลุ่มช่วยกันทำงาน เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาวนากลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชน (ต้องฝึกหัดให้รักงานและมีความรู้ตั้งแต่ยังเด็ก เช่น โครงการเกษตรอาหารกลางวัน)การทำบัญชี หัดคิดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ใช้ของเช่นเครื่องมือการเกษตรร่วมกัน (ง) ทางราชการต้องร่วมมือกับ ปราชญ์พื้นบ้านหรือช่างพื้นบ้าน จัดการชลประทาน ขนาด ใหญ่ กลาง เล็ก ส่วนมากเป็นขนาดเล็ก เช่น ฝาย หรือ check dam (จ) ใช้พลังงานทางเลือก ไฟฟ้าพลังน้ำ พลังแสงอาทิตย์ พลังลมขนาดเล็ก พลัง biofuel และ biogas (ฉ) ใช้ สารเคมีน้อยลง ใช้วิธีการทางชีวภาพ และทางกล ผลิตเมล็ดพันธุ์ และปรับปรุงดิน เช่น การทำปุ๋ยหมัก (compost) การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชได้ ใช้แมลงบางชนิดควบคุมจำนวนแมลงที่มีโทษ ฉะนั้นสมัยนี้จึงไม่สู้นิยมใช้แผ่นกาวสีเหลืองที่ล่อแมลงมาติด เพราะแมลงที่ดีมาติดด้วย การปลูกผักกางมุ้ง การใช้หญ้าแฝก อนุรักษ์ดินและน้ำ (ช) ให้มีอาชีพเสริมที่สามารถทำได้ในพื้นที่ เช่น จักสาน ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า ตัดเสื้อ ทำอาหาร ทำการตลาด (ให้ขายได้) ทำอาหาร กระเป๋า ซ่อมสร้างเครื่องมือการเกษตร เครื่องมือจับ สัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ถนอมอาหาร (ซ) เพาะปลูกพืชหลายๆ อย่าง เช่น การเพาะเห็ด เห็ดฟางใช้ฟางที่มาจากนา เมื่อเห็ดหมด แล้วยังทำปุ๋ยหมักได้ การเลี้ยงสัตว์ สมัยก่อนเกษตรกรมักจะใช้ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว เช่น อ่าง ถัง กระบุง ลัง ราง ปลูกพริก ต้นหอม ขิง ข่า ตะไคร้ ผักชี ตามรั้วทำรั้วกินได้ ปลูกพืชเลื้อย เช่น ตำลึง (ฌ) ส่งเสริมการศึกษา ให้เกษตรกร และบุตรหลานมีการศึกษาดีขึ้น สามารถอ่านเขียน อ่านเอกสารแนะนำของทางราชการ อบรมวิชาการโดยเฉพาะด้านการเกษตร เช่น การเพาะปลูกแบบไม่ใช้ดิน การปรับปรุงดิน ในด้านความรู้นี้ ผู้ที่รวมให้ความรู้จัดการอบรมมีหน่วยราชการที่มีความรับผิดชอบตรง สถาบันการศึกษาระดับต่างๆ องค์การเอกชน มูลนิธิ เกษตรกรที่มีความรู้ เป็นต้น (ญ) ส่งเสริมสุขภาพ (Health Hygiene and Sanitation) เกษตรกรและครอบครัว ต้องได้รับการส่งเสริมให้รักษาสุขภาพอนามัย มีโภชนาการดี การสร้างภูมิคุ้มกัน (immunization) แก้ปัญหาโรคติดต่อ หลีกเลี่ยงสุราและบุหรี่ การใช้ยากำจัดศัตรูพืชมากเกินไป ทำให้เกษตรกรบางรายเป็นลมอยู่กลางนา ฯลฯ สามารถเข้าถึงแหล่งบริการทางสาธารณสุข ผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถทำงานได้ (ฎ) ธนาคารข้าว ประมาณ 40 กว่าปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเยี่ยมราษฎรพระราชทานข้าว เป็นของกลางของชุมชนเล็กๆ คัดเลือกคนในหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ยืม นานเท่าไร จ่ายดอกเบี้ยเป็นข้าวเล็กน้อย มีผู้ทำบัญชี สามารถยืมไปบริโภคและทำพันธุ์ ภายหลังระบบนี้แพร่หลาย เกษตรกรก็สามารถดำเนินการจัดตั้งเองได้ และ (ฏ) ธนาคาร โคกระบือ รวบรวมโคกระบือ ทำบัญชีคุมให้ราษฎรนำไปใช้ และส่งลูกโคกระบือกลับคืนให้โครงการเพื่อมอบให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้นำไปใช้ต่อไป
6. ความสำเร็จของ FF ในประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกร เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ (ค.ศ. 1994) มีเกษตรกรปฏิบัติตามแล้วมีหลายคนที่ ปลดหนี้สินได้ มีฐานะดีขึ้น ทฤษฎีใหม่นี้มีส่วนประกอบคือ (ก) ความพอประมาณ (self sufficiency) ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สามัคคีกัน (ข) ความมีเหตุผล รู้ว่าอะไรควร ไม่ควรทำ ตามหลักเหตุผล และ (ค) ภูมิคุ้มกัน เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะมีอะไรเกิดขึ้นมีสติปัญญา และความเพียร จากนั้นทำการเกษตรอย่างผสมผสาน คือแบ่งที่ดิน 30% ขุดบ่อเพื่อใช้น้ำ รับน้ำที่ไหลบ่ามาเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่น พืชน้ำ อีก 30% ปลูกข้าวไว้กินเอง อีก 30% ปลูกไม้ผล ไว้กินเองและขายผัก พืชไร่ สมุนไพร (herbs ไว้เป็นยารักษาโรคเล็กๆ น้อย) เครื่องปรุง (spices) ส่วน 10% ที่เหลือเป็นที่อยู่ คอกสัตว์ โรงเรือนอื่นๆ ถ้าแต่ละคนมีบ่อไม่ได้ก็ทำสระน้ำใช้ร่วมกัน มีคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการจับปลาเพื่อให้ยุติธรรม และมีใช้ยั่งยืน (ต้องคิดเรื่องบริมาณน้ำระเหยด้วย) ขั้นที่สองต้องคิดเรื่องที่ เกษตรกรที่ทำเกษตรในครัวเรือนทำเป็นกลุ่มได้แก่ การผลิต (เมล็ดพันธุ์ ไถ ชลประทาน) การตลาด (ลานตากเมล็ดพืช ยุ้ง โรงสี ขาย) ความเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เสื้อผ้า) สวัสดิการ (สุขภาพ สินเชื่อ) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา) สังคม ศาสนา และขั้นที่สามคือการมีระบบสหกรณ์ สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ (bank) เชื้อเพลิง (เช่น บริษัทน้ำมัน) ร้านสหกรณ์ ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้สินเชื่อและบริษัท
7. ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ (มีปัญหาพิเศษ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม (acid sulphate soil), ดินดาน (hard pan) ปัญหาขัดแย้งระหว่างสวนผลไม้ ป่าชายเลน และนากุ้งของแต่ละแห่งทำศูนย์ศึกษาเพื่อแสดงกิจกรรมทางการเกษตรผสมผสาน (integrated activities) ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เกษตรกรรอบศูนย์ (หมู่บ้านบริวารศูนย์) จะได้รับการฝึกอบรม และการส่งเสริม ส่วนศูนย์การเกษตรแบบชุมชน ใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลุ่มสหกรณ์ฝึกหัดตั้งแต่ เด็กเล็กๆ อายุประมาณ 9 ปี อยู่ชั้น ป. 3-4 ก็เริ่มให้เรียนแล้ว มีกลุ่มเกษตรกร (ที่ยุโรปก็ทำ) นอกจากใช้เครื่องจักรกลเกษตรแล้ว ยังมีการใช้แรงงานสัตว์ (เช่น ที่กาสร) ซึ่งจะได้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช biocontrol กลุ่มแม่บ้านซึ่งนอกจากจะทำการเกษตรแล้ว ยังทำงานหัตถกรรมด้วย ฝึกการทำบัญชี ทั้งบัญชีธรรมดา และบัญชีคอมพิวเตอร์ หาความรู้จากปราชญ์ท้องถิ่น
8. ความสำเร็จของ FF ของไทย คือ การร่วมมือของทุกฝ่าย การแบ่งปันความรู้ และทรัพยากรต่างๆ ความรักความเมตตาต่อกัน ช่วยเหลือกัน กิจกรรมการเกษตรมีหลายอย่าง แต่เรามีวิธีส่งเสริมคล้ายกัน ส่งเสริมให้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์โดยปราศจากสารพิษ มีการฝึกงาน ปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ใช้ระบบสหกรณ์ ส่งเสริมให้บริโภคพืชผลที่ผลิตเอง
9. ในส่วนของผู้บรรยายอื่นๆ นั้นสาระสำคัญของการบรรยายมีความคล้ายคลึงกัน โดยต่างเห็นในหลักการว่า FF ในแต่ละภูมิภาคมีความโดดเด่นและมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกันไป และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีมาแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันเสริมสร้างความเข้ม แข็งให้กับรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบครัวเรือนที่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ FF มีความสำคัญต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งของครัวเรือนและชุมชน เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้และการจ้างงาน ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ FF มีจุดเด่นในมิติการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณี อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่ผ่านมา FF อาจถูกมองผิดๆ ว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่พัฒนาและความหิวโหย ซึ่งจักต้องได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนะคติใหม่ รวมทั้ง FF มีปัญหาสำคัญคือการขาดโอกาสและช่องทางการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน เทคโนโลยี ฯลฯ ดังนั้น ปี 2557 ซึ่ง UN กำหนดให้เป็นปีสากลของเกษตรกรรมครัวเรือนจึงนับเป็นโอกาสดีที่ประชาคมระหว่างประเทศ และ รัฐบาล และทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจะร่วมมือกันในการกำหนดนโยบาย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ คัดเลือกมาตรการและแนวทางการดำเนินงานและความร่วมมือที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ FF มีความเข้มแข็ง มั่นคงและเป็นรากฐานของประเทศและภูมิภาคต่างๆ อย่างยั่งยืนสืบไป
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเพิ่มเติมได้จากข่าวในพระราชสำนัก http://122.155.18.163:1935/vod/_definst_/mp4:programs/news/2013-12/videos/1385905638_CH9_2013_12_01_201.mp4/playlist.m3u8
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมได้ที่ http://ec.europa.eu/agriculture/events/family-farming-conference-2013_en.htm
***************************
ภาพประกอบจาก Tnews