สรุปผลการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.00 น.
ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล
1.ภาพรวมความคืบหน้า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานภาพรวมการดำเนินการซึ่งมีความคืบหน้านับตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยระหว่างเสามีการดำเนินงานที่เกื้อกูล/ประสานงานซึ่งกันและกัน รวมทั้งการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์หรือแผนงานระยะ 10 ปี โดยทั้งสามเสาได้จัดทำแผนงานระยะแรก 5 ปี (2559-2563) รองรับ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
2.ความคืบหน้าการดำเนินการของแต่ละเสา
2.1 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญในเชิงนโยบาย ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (2558-2564) การจัดทำแผนงาน 5 ปีสำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงของไทย (2559-2563) ในเชิงโครงสร้าง มีการจัดตั้งกลไกเพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน 3 แห่ง ได้แก่ (1) ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลการเดินทางเข้า–ออกของบุคคลและยานพาหนะ (2) ศูนย์ ASEAN-NARCO ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และ (3) ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ที่กรมแพทย์ทหารบก สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ (1) การบริหารจัดการชายแดน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (2558-2564) (2) การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล ซึ่งมีแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (2558-2564) รองรับแล้ว (3) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ (4) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน และ (5) การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน
2.2 อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้เสาเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆตามพันธกรณีของอาเซียนและเพื่อรองรับและใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งด้านกฎหมาย สินค้า/บริการ ผู้ประกอบการ และบุคลากร สำหรับแผนงานระยะ 5 ปี มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การเปิดเสรีการค้าบริการ เพื่อสนับสนุนการเป็นชาติแห่งการค้า (Trading Nation) 5 สาขา ได้แก่ โทรคมนาคม/คอมพิวเตอร์ ขนส่ง/โลจิสติกส์ ก่อสร้าง การเงิน/ประกันภัย และการศึกษา (2) การเป็นชาติแห่งการเชื่อมโยง (Integrated Nation) ทั้งการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง การสื่อสาร และพลังงาน และ (3) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ยังเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรดำเนินการเร่งด่วนเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของไทย (National Single Window : NSW) โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้ระบบ NSW ดำเนินการได้จริงภายในสิ้นปี 2558
2.3 รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรม โดยกำหนดประเด็นเร่งด่วนตามที่ได้จากผลการศึกษาเรื่องผลกระทบทางสังคมจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ปัญหาแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน (2) ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และ (3) ปัญหาด้านสวัสดิการสังคม สำหรับแผนงานระยะ 5 ปี ได้กำหนดแผนงานภายใต้ 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคม (2) ความเท่าเทียมและการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (3) การพัฒนาทางสังคมที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม (4) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ และ (5) การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นสมาชิกประชาคมโลก
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอประเด็นเร่งด่วนเพิ่มเติมโดยขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษข้ามแดนที่สำคัญ อาทิ ปัญหาหมอกควันและไฟป่าข้ามแดน การลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมาย พันธุ์พืชและสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การลักลอบทิ้งขยะและของเสียอันตรายข้ามแดน ปัญหามลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่งข้ามแดน
2.4 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยกรมประชาสัมพันธ์มีโครงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาเซียนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย และสื่อกิจกรรม อาทิ การจัดงานสัปดาห์อาเซียน การจัดตั้งเว็บไซต์ www.aseanthai.net เป็นต้น สำหรับแผนงาน 5 ปี กรมประชาสัมพันธ์จะจัดทำแผนบูรณาการด้านประชาสัมพันธ์
2.5 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการจัดทำบัญชีกฎหมายที่ไทยต้องอนุวัติการตามพันธกรณีของอาเซียนและบัญชีกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมของไทย โดยในชั้นนี้ ได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆแล้ว 43 หน่วยงาน และยังมิได้รับแจ้งจากอีก 38 หน่วยงาน สำหรับบัญชีกฎหมายที่ต้องอนุวัติการภายปี 2558 ประกอบด้วยกฎหมายที่ต้องออกในระดับ พ.ร.บ. 4 ฉบับ และกฎหมายลำดับรอง 4 ฉบับ ส่วนบัญชีกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมของไทย อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณา
3. แนวทาง/ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
ภาพรวม
3.1 การดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาของไทยในภาพรวม มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ การดำเนินงานของทั้งสามเสาควรมีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรมีการตั้งเป้าหมาย/วิสัยทัศน์ล่วงหน้า 10 ปี โดยมีการวางแผนระยะ 5 ปีและ 10 ปี ซึ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน โดยอาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส นอกจากนี้ ส่วนราชการควรคำนึงถึงการผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆในกรอบอาเซียนด้วย มิใช่เฉพาะในประเทศไทย
3.2 เน้นย้ำให้ส่วนราชการต่างๆดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่และสามารถรับมือกับผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมอย่างทันท่วงที
3.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบูรณาการและมีการดำเนินงานในลักษณะครบวงจรโดยมีการกำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก หน่วยงานรอง หน่วยงานเสริม ที่ชัดเจน มีการวิเคราะห์วิกฤตโอกาส ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยและอาเซียน
เสาการเมืองและความมั่นคง
3.4 ย้ำให้ความสำคัญกับเสาการเมืองและความมั่นคงในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนความคืบหน้าของเสาเศรษฐกิจและเสาสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการชายแดนและจุดผ่านแดน ซึ่งหน่วยงานต่างๆจะต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการ
3.5 อาจพิจารณาให้ศูนย์อาเซียนของ สตช.มีภารกิจครอบคลุมประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และอื่นๆเพิ่มเติม
3.6 มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ อาจพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ไทยต้องรับภาระในเรื่องการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างชาติบริเวณชายแดน
เสาเศรษฐกิจ
3.7 เห็นชอบให้ไทยผลักดันประเด็น “ASEAN Access” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดทิศทางในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้ประชาคมอาเซียนรับจะศึกษาและจัดทำกรอบแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
3.8 ไทยควรผลักดันประเด็นต่างๆในกรอบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร การพัฒนาตราสินค้าอาเซียน การส่งเสริม SMEs การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า
3.9 ควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในอาเซียน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายของภาคส่วนต่างๆเพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นหุ้นส่วนกันและไม่แข่งขันกันเอง โดยเฉพาะผลผลิตด้านการเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน
3.10 เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบ/ รับรองมาตรฐานสินค้าไทยให้สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้
เสาสังคมและวัฒนธรรม
3.11 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมาก ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ โดยอาจพิจารณาหาแนวทางในการควบคุมและมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน
ด้านกฎหมาย
3.12 การดำเนินงานทางด้านกฎหมายอาเซียนมีความสำคัญและต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน จึงควรให้มีการเร่งรัดจัดทำข้อมูลกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีและเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทย โดยให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสามเสาติดตามข้อมูลกฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดส่งให้คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป และให้รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงแจ้งยืนยันข้อมูลกฎหมายของหน่วยงานของตนไปยังคณะทำงานฯด้วย
ด้านประชาสัมพันธ์
3.13 ควรมีโครงสร้างการประชาสัมพันธ์ที่เน้น 3 ประเด็น ได้แก่ การสร้างความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมที่ควรเตรียมพร้อมรับมือและโอกาสที่ประชาชนจะได้รับจากอาเซียน นอกจากนี้ ควรสร้างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประเทศไทยกับอาเซียนในบริบทของประชาคมโลก
กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน
กรมอาเซียน
พฤษภาคม 2558