“Taming the Black Swan: Multilateral diplomacy for sustainable growth in the era of disruption” by H.E. Don Pramudwinai, Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand
The time for Thailand by MFA Thailand x Monocle

ศักยภาพของเบลเยียมในฐานะศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของยุโรป

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศเบลเยียมในการเป็นผู้นำด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ของโลก เบลเยียมเป็นแหล่งผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ 3 บริษัทชื่อดัง ได้แก่ บริษัท Pfizer/BioNTech บริษัท AstraZeneca และบริษัท Curevac รวมถึงเป็นแหล่งผลิตสารเสริมฤทธิ์ยา (adjuvant) ที่จำเป็นในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ให้กับบริษัท Sanofi และ Medicago อีกด้วย ซึ่งเบลเยียมยังเป็นฐานกระจายวัคซีนสำคัญของบริษัทยาชั้นนำไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เบลเยียมเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) ระดับโลก มีสัดส่วนการส่งออกยาชีวเภสัชภัณฑ์ของสหภาพยุโรปร้อยละ 13 รวมถึงมีการลงทุนด้านการวิจัยร้อยละ 10 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเบลเยียมได้มีการเพิ่มการลงทุนในด้าน R&D เป็นประมาณร้อยละ 2.5 ของ GDP โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญของอุตสาหกรรมฯ มีการลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านยูโรสำหรับ R&D ต่อปี ซึ่งนับเป็น 40% ของการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมดในด้าน R&D ตลอดจนเป็นภาคส่วนสำคัญในแง่ของการจ้างงานประมาณ 30,000 คน และมีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อไป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เบลเยียมสามารถพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการที่ครบวงจร โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่หลากหลาย และความช่วยเหลือในการจ้างนักวิจัยที่มีคุณภาพ ส่วนบริษัทเอกชนของเบลเยียมก็มีบทบาทสำคัญในการลงทุน R&D ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (biotech) เช่น บริษัท Galapogas, Biocartis และ Seqauana Medical ซึ่งมีสัดส่วน 2/3 ของส่วนทุน equity ในภาคเทคโนโลยีชีวภาพของยุโรป

ขณะที่สถาบันการศึกษาของเบลเยียมหลายแห่งมีความเชี่ยวชาญในภาควิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัย และสามารถนำองค์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงเป็นจุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากภาคเอกชน เช่น การจัดตั้งบริษัท Biotech Henogen S.A. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Free University in Brussels กับบริษัท GSK ของสหราชอาณาจักร ร่วมกันจัดตั้งโรงงานผลิตยาในเมือง Seneffe และ Gosselies ของเบลเยียม

นอกจากนี้ เบลเยียมยังได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ โดยอยู่ในใจกลางของยุโรป พร้อมมีจุดแข็งในด้าน logistics และการคมนาคม จึงได้กลายเป็น “vaccine valley” ของยุโรป โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่หลายประเทศประสบปัญหาด้าน supply chain ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการขนส่งสินค้าอย่างมาก โดยเมืองเบลเยียมที่เป็นศูนย์กลางของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แก่

1) เมือง Wavre (เขต Walloon) เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวัคซีนบริษัท GSK ที่กำลังผลิตสารเสริมฤทธิ์ยาให้กับบริษัท Sanofi ของฝรั่งเศสและบริษัท Medicago ของแคนาดา และจะเป็นฐานผลิตวัคซีน ให้กับบริษัท Curevac ของเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิกและคาดว่าอียูจะอนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวภายในเดือน พ.ค. 2564

2) เมือง Puurs (เขต Flanders) เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวัคซีนของบริษัท Pfizer/BioNTech

3) เมือง Seneffe (เขต Walloon) เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวัคซีน subcontacts ของบริษัท AstraZeneca

ความสำเร็จของเบลเยียมในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์สามารถเป็นแบบอย่างให้กับไทยในการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ในด้านการแพทย์ สาธารณสุข และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ของเบลเยียม

ที่มา: https://www.euractiv.com/section/health-consumers/news/pandemic-showcases-belgium-as-europes-vaccine-valley/


Photo by Noah Frohn from Pexels

ไทย