การประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ครั้งที่ 3 ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนาย Joost Korte ปลัดกระทรวงการจ้างงาน กิจการสังคม และการหลอมรวมทางสังคม คณะกรรมาธิการยุโรป เป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจนอกระบบ เสรีภาพในการสมาคม และการฝึกงาน (apprenticeship)
ฝ่ายไทยได้ยกตัวอย่างมาตรการรับมือกับโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของผู้ทำงาน เช่น การกระจายวัคซีน ให้บริการรักษา Hospitel และโครงการ Factory Sandbox นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เช่น การขยายอายุวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การเข้าถึงวัคซีนและการรักษาอย่างเท่าเทียม รวมถึงการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566 ซึ่งอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยได้รับความคุ้มครองอย่างครบถ้วน
ฝ่ายสหภาพยุโรปได้มีการนำเสนอพัฒนาการด้านกฎหมายที่น่าสนใจ เช่น การสนับสนุนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะตกงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน พัฒนาการด้านค่าจ้างขั้นต่ำและรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับงานแพลตฟอร์ม การทำงานทางไกล (Telework) และสิทธิในการที่จะตัดขาดการติดต่อ (right to disconnect)
ในวันที่ 27 เมษายน 2566 ฝ่ายสหภาพยุโรปได้นำคณะไทยเยือนศูนย์ฝึกอาชีพด้านชีวเภสัชภัณฑ์ ที่เมือง Seneffe เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา การจัดการศึกษาต่อเนื่อง และการส่งเสริมการจ้างงาน
อนึ่ง การประชุมระดับสูงด้านแรงงานไทย-สหภาพยุโรป จัดมาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อปี 2561 ปี 2563 และ ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงานระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป และถือเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญที่ช่วยสร้างพลวัตให้กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป