บริการสำหรับคนไทย
- ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่้อ COVID-19 ในเบลเยียม ฝ่ายกงสุลเปิดให้บริการด้วยการนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น และผู้ได้รับนัดหมายจะสามารถเข้ามาภายในอาคารได้เพียงท่านเดียว ยกเว้นผู้เยาว์ที่มายื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง
- ติดต่อเพื่อขอนัดหมายทาง
- สำหรับการนัดหมายวีซ่า คำถามเกี่ยวกับวีซ่าประเทศไทยและใบCOEสำหรับชาวต่างชาติ กรุณาติดต่ออีเมล์ visa.brs@mfa.mail.go.th
- สำหรับการนัดหมายและคำถามเกี่ยวกับหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนไทยกรุณาติดต่ออีเมล์ passport.brs@mfa.mail.go.th
- สำหรับการนัดหมายนิติกรณ์ คำถามเกี่ยวกับนิติกรณ์ ใบCOEสำหรับชาวไทย งานคุ้มครองชาวไทย และงานบริการกงสุลอื่นๆ กรุณาติดต่ออีเมล์ consular.brs@mfa.mail.go.th
- สำหรับคนไทยที่หนังสือเดินทางไทยหมดอายุหรือสูญหาย แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางกลับประเทศไทย ขอให้ท่านส่งเอกสารหลักฐานความจำเป็นเร่งด่วนในการเดินทางกลับประเทศไทยให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบในขั้นตอนการขอนัดหมายด้วย (เช่น สำเนาวีซ่า- กรณีต้องกลับเร่งด่วนเพราะวีซ่าหมดอายุ / เอกสารจากโรงพยาบาล- กรณีต้องกลับเร่งด่วนเพื่อเยี่ยมสมาชิกครอบครัว เป็นต้น) เพื่อการพิจารณาจัดคิวตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป
เนื้อหา
หนังสือเดินทางไทยสำหรับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
การปรับอัตราค่าธรรมเนียมด้านกงสุล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562
***ในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ หากมีความต้องการสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ขอให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนด้านหน้าเท่านั้น (ไม่ต้องถ่ายด้านหลัง)***
หนังสือเดินทางไทย
หนังสือเดินทางไทย (ปรับปรุงล่าสุด ณ วันที่ 11 มี.ค. 2564)
ผู้ขอหนังสือเดินทางจะต้องไปทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง และการผลิตหนังสือเดินทาง ใช้เวลาทำการประมาณ 4 สัปดาห์
เอกสารประกอบการทำหนังสือเดินทางธรรมดาของบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)
- แบบคำร้องขอหนังสือเดินทาง 1 ใบ (กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย)
- แบบฟอร์มหนังสือยืนยันความถูกต้อง 1 ใบ (กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย)
- หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน และสำเนา 1 ใบ
- บัตรประชาชนไทยตัวจริง และสำเนา 1 ใบ (หรือสำเนาสูติบัตรไทย หากไม่มีบัตรประชาชนไทย)
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ใบ
- รูปถ่าย 1 ใบ
- ค่าธรรมเนียม (เตรียมให้ครบตามจำนวน และเป็นธนบัตร)
- 35 ยูโร สำหรับ หนังสือเดินทางอายุ 5 ปี
- 50 ยูโร สำหรับ หนังสือเดินทางอายุ 10 ปี
- กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย ต้องมีใบแจ้งความจากตำรวจ (ในใบแจ้งความให้มีการระบุว่าหนังสือเดินไทยหาย พร้อมระบุหมายเลขหนังสือเดินทางไทยที่สูญหาย)
เอกสารประกอบการทำหนังสือเดินทางธรรมดาของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ***ดูหมายเหตุข้อ 1 และ 2 ประกอบ***
- แบบคำร้องขอหนังสือเดินทาง 1 ใบ (กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย)
- แบบฟอร์มหนังสือยืนยันความถูกต้อง 1 ใบ (กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย)
- หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน และสำเนา 1 ใบ
- สำเนาสูติบัตรไทย 1 ใบ
- สำเนาทะเบียนสมรสของบิดา-มารดา 1 ใบ
- บัตรประชาชนตัวจริงของบิดา และสำเนา 1 ใบ (ใช้บัตรประชาชนไทยหากบิดาเป็นคนไทย และใช้บัตรประชาชนท้องถิ่นหากบิดาไม่ใช่คนไทย)
- บัตรประชาชนตัวจริงของมารดา และสำเนา 1 ใบ (ใช้บัตรประชาชนไทยหากมารดาเป็นคนไทย และใช้บัตรประชาชนท้องถิ่นหากบิดาไม่ใช่คนไทย)
- บัตรประชาชนไทยตัวจริง และสำเนา 1 ใบ (หากมี)
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ใบ (ดูหมายเหตุข้อ 1)***
- รูปถ่าย 1 ใบ
- ค่าธรรมเนียม 35 ยูโร (เตรียมให้ครบตามจำนวน และเป็นธนบัตร) *ผู้เยาว์สามารถทำหนังสือเดินทางที่มีอายุ 5 ปีได้เท่านั้น*
***หมายเหตุ***
- กรณีผู้ร้องเป็นผู้เยาว์ที่เกิดในต่างประเทศและมายื่นขอทำหนังสือเดินทางที่ไม่ใช่เล่มแรก ผู้ปกครองต้องเพิ่มชื่อผู้เยาว์เข้าทะเบียนบ้านที่ไทยก่อน และต้องมีเลขประจำประชาชน 13 หลักมายื่น (หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้ติดต่อมาที่ passport.brs@mfa.mail.go.th)
- บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ บิดาและมารดาจะต้องลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หากไม่สามารถมาได้ต้องมีเอกสารมาแสดงดังนี้
- กรณีที่ผู้เยาว์อยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องมีหนังสือปกครองบุตร (ปค. 14) มาแสดง และ สำเนา 1 ชุด
- กรณีบิดาและมารดาหย่าให้นำใบหย่าและบันทึกหย่า และสำเนา 1 ชุด
- กรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต ให้นำใบมรณบัตรมาแสดง และสำเนา 1 ชุด
- หรือหนังสือให้ความยินยอมจากบิดา/มารดา ฉบับจริง อายุไม่เกิน 6 เดือน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของบิดา/มารดา มาแสดง (ขอทำหนังสือให้ความยินยอมได้ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรืออำเภอ/เขต)
เมื่อท่านได้รับอีเมล์แจ้งให้มารับหนังสือเดินทางจากสถานเอกอัครราชทูตฯ แล้วให้ท่านติดต่อ passport.brs@mfa.mail.go.th เพื่อแจ้งวันและเวลาที่สะดวกมารับเล่ม อย่างน้อย 2 วันก่อนเดินทางมารับเล่ม และเจ้าหน้าที่จะส่งอีเมล์ยืนยันการนัดหมายรับเล่มอีกครั้งหนึ่ง ท่านสามารถมารับเล่มได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาทำการ 09.30 – 12.00 น. และ 14.00 -1 5.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการของสถานเอกอัครราชทูตฯ
Download
รายการเอกสารเพื่อใช้ทำหนังสือเดินทาง
หมายเหตุ: สามารถขอรับแบบฟอร์มที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้
บัตรประชาชนไทย
สำหรับชาวไทยที่มีถิ่นพำนักในเบลเยียมและลักเซมเบิร์กที่มีบัตรแล้ว แต่หมดอายุ หรือบัตรชำรุดใช้การไม่ได้ หรือบัตรสูญหาย ต้องมาสถานทูตฯ ด้วยตัวเอง ในเวลาให้บริการของฝ่ายกงสุล พร้อมเอกสาร ดังนี้
- บัตรประชาชนไทยใบปัจจุบัน ซึ่งต้องมอบคืนให้สถานทูตฯ
- บัตรประจำตัวผู้มีถิ่นพำนักในเบลเยียม หรือ ลักเซมเบิร์ก และ ข้อมูลบ้านเลขที่/ ที่อยู่ในเบลเยียม หรือ ลักเซมเบิร์ก
- หลักฐานอื่น ๆ ที่ออกโดยทางการไทยและมีรูปถ่ายผู้ถือบัตร เช่น พาสปอร์ต ใบขับขี่ เพื่อประกอบการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล
- กรณีบัตรหมดอายุ หรือ เหลืออายุไม่ถึง 60 วัน สถานทูตฯ ไม่เก็บค่าเทียบปรับหรือค่าธรรมเนียม แต่ต้องมีบัตรใบปัจจุบันมอบคืนให้สถานทูตฯ (ถ้าบัตรหมดอายุแล้ว แต่สูญหาย มีค่าธรรมเนียม)
ทั้งนี้ สถานทูตฯ ไม่สามารถให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยได้ ในกรณี
- ผู้ขอมีบัตรฯ ใบแรก
- ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง
- ผู้ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
- ผู้ไม่พบข้อมูล หรือ เป็นบุคคลซ้ำซ้อน หรือ ข้อมูลไม่ตรงในฐานทะเบียนราษฎร ของ ก. มหาดไทย
- ผู้ต้องการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล คำนำหน้า ฯลฯ โดยไม่ตรงกับข้อมูลปัจจุบันในฐานทะเบียนราษฎร
ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ขอให้ไปติดต่ออำเภอ/ที่ทำการเขตในประเทศไทย เพื่อขอทำบัตรฯ
คนไทยที่ประสงค์จะขอรับบริการทำบัตรประชาชน ขอให้แจ้งนัดหมายล่วงหน้ากับสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่ passport.brs@mfa.mail.go.th โดยใช้หัวข้อ “ขอทำบัตรประชาชน” ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งยืนยันวันนัดทางอีเมล์ถึงผู้ร้องในโอกาสแรก
แจ้งเกิด
เอกสารประกอบการขอสูติบัตรไทย
1.ใบเกิด Birth Certificate International Convention จากอำเภอที่เด็กเกิดและประทับตรารับรองใบเกิดที่กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ที่อยู่: 27 Rue Petits Carmes, 1000 Brussels
*สถานทูตฯ ไม่รับรองเอกสารที่เป็นตราประทับ electronic*
2.ใบสำคัญการสมรส
- ถ้าแต่งงานที่ประเทศไทย ขอสำเนาใบแต่งงาน 1 ใบ
- ถ้าแต่งงานที่ประเทศเบลเยียม ขอ Marriage Certificate International Convention และจะต้องประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเช่นเดียวกันกับใบเกิด
3. สำเนาบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา อย่างละ 1 ใบ (หากบิดาหรือมารดามีสัญชาติไทยโปรดใช้บัตรฯ ไทย และหนังสือเดินทางไทย)
4. สำเนาทะเบียนบ้านไทยของมารดา/บิดาที่มีสัญชาติไทย 1 ใบ
5. บัตรประจำตัวเบลเยียม/หนังสือเดินทางเบลเยียมของบุตร
6. ทะเบียนบ้านในเบลเยียม
7.สำเนาหลักฐานจากโรงพยาบาลที่ระบุชื่อโรงพยาบาลที่เด็กเกิด ระบุเวลาที่เด็กเกิด และระบุน้ำหนักเมื่อคลอด
(ใช้เวลารอประมาณ 1 สัปดาห์ในการออกสูติบัตรไทย)
อนึ่ง เอกสารในข้อ 1 และข้อ 2 หากเป็นใบ International ซึ่งมีภาษาอังกฤษอยู่ด้วยไม่ต้องแปล แต่ถ้าหากเป็นภาษาท้องถิ่นเช่น ดัทช์ หรือ ฝรั่งเศส ต้องแปลเป็นภาษาไทย
และทั้งข้อ 1 และ 2 ต้องผ่านการรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของเบลเยียมมาก่อน
กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ที่อยู่: 27 Rue Petits Carmes, 1000 Brussels.
แจ้งเสียชีวิต
เอกสารประกอบการแจ้งตาย
จัดเตรียมเอกสารของผู้เสียชีวิตมาแสดง ดังนี้
- มรณบัตรจากทางการท้องถิ่นเบลเยียม แบบ International Convention (มี 4 ภาษาคือ ดัชต์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ) และนำไปประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม
- สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ใบ
- สำเนาบัตรประชาชนไทย
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ใบ
- หนังสือรับรองสาเหตุการตายจากแพทย์/โรงพยาบาล
จัดเตรียมเอกสารของผู้แจ้งฯ มาแสดง ดังนี้
- สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ใบ
- บัตรประชาชนไทย 1 ใบ
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ใบ
ขั้นตอนการเคลื่อนย้าย/นำศพหรืออัฐิส่งออกนอกประเทศไทย คลิกที่นี่
จดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า
การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า
- ข้อมูลทั่วไป
- การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย แต่ในทางปฏิบัติของเบลเยียมไม่ถือว่า ไม่ถือว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถทำหน้าที่เสมือนสำนักทะเบียนได้ จึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเบลเยียม
หากต้องการให้การสมรสมีผลตามกฎหมายเบลเยียม ควรติดต่อขอจดทะเบียนต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นของเบลเยียม
- การจดทะเบียนหย่า การจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย โดยต้องมีต้นฉบับทะเบียนสมรสไทยมาแสดงทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว การขอหนังสือรับรองสถานะทางครอบครัว (ใบรับรองโสด) นั้น ผู้ยื่นจำเป็นต้องดำเนินการติดต่อขอรับเอกสารนี้จากที่ว่าการอำเภอฯ หรือ สำนักงานเขตฯที่ประเทศไทยเท่านั้น โดยหากไม่สะดวกเดินทางไปเอง สามารถขอเอกสารมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ที่สถานเอกอัครทูตฯ (ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อฉบับ)
- 3. การขอจดทะเบียนฯ กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทำการ และจะต้องส่งเอกสารประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าทางไปรษณีย์เพื่อตรวจและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- 4. การจดทะเบียนสมรส และทะเบียนหย่า ไม่เสียค่าธรรมเนียม
- หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส
- คำร้องขอจดทะเบียนสมรส และ บันทึกถ้อยคำการจดทะเบียนสมรส ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่สมรสแล้ว
- หนังสือเดินทางที่ไม่หมดอายุของคู่สมรส
- บัตรประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส
- ในกรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและหย่าแล้ว ต้องมีสำเนาทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย
- ในวันจดทะเบียนสมรส กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของพยาน
- ใบรับรองโสด ของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย (สำหรับคนไทย สามารถติดต่อขอรับใบรับรองความเป็นโสดได้ที่ที่ว่าการอำเภอฯ หรือ สำนักงานเขตฯ ที่ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
- หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนหย่า
- คำร้องขอจดทะเบียนหย่า ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่หย่าแล้ว
- ต้นฉบับทะเบียนสมรสไทยของทั้งสองฝ่าย
- หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุของทั้งสองฝ่าย
- สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย
- สัญญาการหย่า
- ในวันจดทะเบียนหย่า กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของพยาน
ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการขอผ่อนผันไม่ต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามหมายเรียก ตามมาตรา 27(2) แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ของนักศึกษา/นักเรียนที่ไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ดังนี้
- การยื่นขอผ่อนผันฯ จะต้องให้นักเรียนผู้ประสงค์ขอผ่อนผันหรือบิดามารดาหรือผู้ปกครองไปยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอภูมิลำเนาทหาร
- หลักฐานประกอบในการขอผ่อนผัน
- หนังสือรับรองของสถาบันการศึกษา โดยระบุหลักสูตรการศึกษา ระยะเวลาในการศึกษาตามหลักสูตร
ถ้านักศึกษาอยู่ในระหว่างการฝึกงาน สถาบันการศึกษาจะต้องรับรองว่าการฝึกงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษา
- หนังสือรับรองการฝึกงานของสถาบันหรือบริษัทที่รับเข้าฝึกงาน
- เอกสารที่เกี่ยวข้องถ้าเป็นภาษาต่างประเทศให้แปลเป็นภาษาไทยกำกับและลงชื่อตำแหน่งผู้แปล
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประสงค์ผ่อนผันและผู้ยื่นคำร้องแทน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสงค์ผ่อนผันและผู้ยื่นคำร้องแทน
- สำเนาใบสำคัญ (แบบ สด. 9) และสำเนาหมายเรียกฯ (แบบ สด. 35) ของผู้ประสงค์ผ่อนผัน
- สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ประสงค์ผ่อนผัน (ทุกหน้าที่มีการบันทึก)
- ถ้าเป็นการยื่นคำร้องขอผ่อนผันภายหลังจากที่นักศึกษาได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว ต้องมีหนังสือรับรองของสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยหรือผู้ดูแลนักเรียนไทยที่ตั้งอยู่ ณ ประเทศที่ไปศึกษาวิชานั้นรับรองว่า นักเรียนผู้นั้นกำลังศึกษาวิชาอะไร อยู่ที่สำนักศึกษาใด ประเทศใดและมีกำหนดการศึกษากี่ปี
- การยื่นขอผ่อนผันฯ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการตรวจเลือกฯ ของอำเภอนั้น รายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในหมายเรียกฯ (แบบ สด.35)
การขึ้นทะเบียนทหารกองเกินและขอผ่อนผันเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหาร สำหรับนักเรียนและนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ (เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก)
ชายที่มีสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร โดย
- เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน โดย แสดงหลักฐานสูติบัตรหรือบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านต่อสัสดีท้องที่ด้วยตนเอง หรือกรณีไม่สามารถไปยื่นเอกสารด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะไปแจ้งแทน ถ้าไม่ไปหรือไม่มีผู้ไปแจ้งแทน ถือว่า ผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกิน
- เมื่ออายุครบ 21 ปี ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเป็นทหารตามภูมิลำเนาที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านไทย สำหรับชายที่มีสัญชาติไทยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนในเบลเยียม/ลักเซมเบิร์ก สามารถขอผ่อนผันเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารได้ โดยต้องแสดงหลักฐานเอกสารต่อไปนี้
- หนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่ตนกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่โดยระบุรายละเอียดดังนี้
2.1.1 ชื่อ นามสกุลของนักเรียน/นักศึกษาที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่
2.1.2 กำลังศึกษาในระดับ คณะ สาขาวิชา สถาบันศึกษา ประเทศอะไร
2.1.3 เริ่มเข้าศึกษาตั้งแต่ปีใด และคาดว่าจะจบการศึกษาในปีใด
2.1.4 วิชาที่ศึกษามีหลักสูตรกี่ปี (นำหลักฐานของสถาบันศึกษามาประกอบ)
2.1.5 หนังสือรับรองต้นฉบับจากสถาบันการศึกษาต้องนำไปรับรองลายมือชื่อ
โดยกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม/ลักเซมเบิร์ก
2.1.6 หนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาจะต้องแปลเป็นภาษาไทยพร้อมลงชื่อรับรองการแปล
ถูกต้องแล้ว (นักศึกษาสามารถแปลเองได้ รับรองเองได้)
- สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (สด.9) และสำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (สด.35) ถ้ามี
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย
- สำเนาบัตรประชาชน (หากมี)
- สำเนาหนังสือเดินทางไทย
- หนังสือรับรองซึ่งออกโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ทั้งนี้ ต้องติดต่อขอหนังสือรับรองนี้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเอง พร้อมเอกสารข้อ 2.1 4 และ 2.5
- นำเอกสารทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น (ข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.6) ไปยื่นต่อสัสดีท้องที่ที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะไปยื่นแทน
- เมื่อสำเร็จการศึกษาในต่างประเทศแล้ว ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการในโอกาสแรกที่มีการตรวจเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหาร
- หรืออาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารบก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส (มีเขตอาณาดูแลเบลเยียม/ลักเซมเบิร์ก :Office of the Defence Attache, 8 Rue Greuze 75116 Paris, France (33-1) 56 26 07 30 Fax. (33-1) 56 26 04 51