EU-ASEAN Business Council เข้าพบหารือกับอุปทูตเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ระหว่างอียู-อาเซียน อียู-ไทย จากการประชุมรัฐมนตรีอียู-อินโดแปซิฟิก ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ครั้งที่ 24

EU-ASEAN Business Council เข้าพบหารือกับอุปทูตเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ระหว่างอียู-อาเซียน อียู-ไทย จากการประชุมรัฐมนตรีอียู-อินโดแปซิฟิก ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ครั้งที่ 24

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.พ. 2567

| 170 view

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 นาย Chris Humphrey, Executive Director, EU-ASEAN Business Council (EU-ABC) ได้เข้าพบหารือกับ น.ส. วารุณี ปั้นกระจ่าง อุปทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างอียู-อาเซียน และอียู-ไทย จากการประชุมรัฐมนตรีอียู-อินโดแปซิฟิก ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567

          อุปทูตฯ ได้หารือแนวทางที่ไทยและ EU-ABC ซึ่งเป็นนักธุรกิจของอียูที่ไปลงทุนในอาเซียน จะสามารถร่วมกันนำผลการประชุมทั้งสองซึ่งเป็นการแสดงเจตนำนงทางการเมืองร่วมกันของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศอียู-อาเซียน และอียู-อินโดแปซิฟิก ไปสู่การปฏิบัติจริง ตามที่ที่ประชุมได้ยืนยันความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในบริบทความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ความร่วมมือเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรวมถึงการสานต่อโครงการความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคทั้งด้านการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน การขยายและพัฒนาความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภายใต้โครงการ Global Gateway Initiative ของอียู โดยอุปทูตได้เสนอให้ EU-ABC สำรวจสาขาที่เป็นไปได้ที่นักธุรกิจอียูสามารถลงทุนเพิ่มเติมในอาเซียนและในไทยในลักษณะ Public Private Partnership (PPP) ภายใต้ Global Gateway Initiative ของอียู โดยยกตัวอย่างในประเทศไทยว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกประสงค์ให้มีการลงทุนด้าน carbon capture & storage ในไทย ซึ่ง EU-ABC อาจช่วยมองหาบริษัทอียูที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทย เป็นต้น

          นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนจาก EU-ABC ในการขับเคลื่อนเศษฐกิจอียู-อาเซียน และอียู-ไทยให้เป็นรูปธรรมในหลายประเด็น อาทิ (1) การสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียูให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 รวมทั้ง FTA อื่น ๆ ที่อียูทำกับประเทศในภูมิภาค (2) การผลักดัน “green lane” ให้แก่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ EV แบตเตอรี่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ระหว่างที่การเจรจา FTA ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อสร้างความพร้อมให้ภาคธุรกิจไทยผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานของอียูด้วย (3) การลดอุปสรรคทางการค้า ด้วยการปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นระหว่างอาเซียน-อียู ซึ่งรวมถึง Non-Tariff Barriers (4) แผนของ EU-ABC ที่จะจัด business matching ระหว่างธุรกิจไทยกับธุรกิจอียู ในสาขาที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว อาทิ EV พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัล และ (5) แผนของ EU-ABC ที่จะจัดกิจกรรมการระดมความเห็นของนักลงทุนธุรกิจอียูเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและวางแผนความร่วมมือระหว่างไทย-อียูต่อไป ในปี 2567

          อนึ่ง EU-ABC เป็นกระบอกเสียงหลักของธุรกิจยุโรป ทั้งภาคการลงทุน การค้าและบริการ ในภูมิภาคอาเซียน และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการอียูและอาเซียน โดยมีบทบาทส่งเสริมผลประโยชน์ของธุรกิจยุโรปในอาเซียน และรณรงค์การปรับนโยบายและกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนระหว่างยุโรปกับอาเซียน รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ